Contents:
- หลังโควิด-19….โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน?” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
- โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง? นายสุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ชวนคิด หลังโควิด-19 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
- Key Word Summary
หลังโควิด-19….โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน?
ช่วงที่ทำงานจากบ้านที่ปราณบุรีนี้ (Work from Home) ทำให้ได้ใช้เวลาอ่านหนังสือ รับฟังข่าวสาร ใช้เวลาคิดทบทวน เชื่อมโยงสิ่งต่างๆมากขึ้น จากที่ผมมักได้รับเชิญไปบรรยายให้หลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.),สถาบันพระปกเกล้า, TepCot ของม.หอการค้า, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, หลักสูตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาล, หลักสูตรของศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น มาทุกปี และการปาฐกถา บรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาต่างๆนั้น มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลก กับผลต่อประเทศไทย ต่ออาเซียน ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ การศึกษาและอื่นๆ
  
ในหลายปีที่ผ่านมา หัวข้อนี้มีความเข้มข้นขึ้น เพราะผลจากปัจจัยต่างๆ เช่นการเจริญเติบโตของจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ การที่ประเทศมหาอำนาจมียุทธศาสตร์ต่างๆมากขึ้นและแข่งขันกันเอง แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯและอังกฤษเริ่มมีนโยบายเชิงต่อต้านโลกาภิวัตน์ ปกป้องพลเมืองและกิจการภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแข่งขันทางการค้าจนกลายเป็นสงครามทางการค้าโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐกับสหภาพยุโรป การแข่งขันทางเทคโนโลยีจนกำลังกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ที่ผลักให้คน และสังคมที่ไม่ปรับต่อการเปลี่ยนแปลง เกิดความล้าหลัง ตกขบวนรถไฟทางเทคโนโลยี เกิดปัญหาการผลิตบุคคลากรของประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยที่ตามไม่ทันโลกของเทคโนโลยีและตลาดแรงงาน การปรับตัวอย่างเชื่องช้าของภาครัฐ ระบบราชการและระบบกฎหมายไทยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยเป็นต้น
  
ที่ผ่านมาเรื่องข้างต้นก็ดูเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ทุกประเทศในโลกรวมประเทศไทยต้องเอามาคิด มาพิจารณาว่าจะปรับตัวอย่างไร
  
แต่เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคระบาดระดับโลก (Pandemic) ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกเปลี่ยนแปลงไปอีกมากมายอย่างรวดเร็วและซับซ้อนยิ่งกว่าความซับซ้อนที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไม่น่าเชื่อ
  
ผมเองเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศช่วงที่มีโรคระบาดสำคัญเช่นไข้หวัดซาร์ส (SARS) ซึ่ง ณ วันนั้นเราได้จัดประชุมผู้นำอาเซียน+จีนภายใน 7 วัน นำผู้เชี่ยวชาญมาด้วย ตกลงกันมีมาตรการต่างๆที่สอดคล้องกัน และจบปัญหาได้ในไม่เกิน 2 เดือน เราเคยประสบปัญหาไข้หวัดนก (Avian Flu) ซึ่งก็มีการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและรัฐมนตรีสาธารณสุขจากทั้งเอเชีย ยุโรปและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องรวมเกือบ 40 ประเทศในประเทศไทย… ตกลงให้ตรงกันเรื่องสาเหตุและทางแก้ร่วมกัน และโลกก็แก้ปัญหาไข้หวัดนกได้ ในการแพร่ระบาดครั้งต่อๆมา ก็ดูจะร่วมมือแก้ปัญหากันได้ดีพอสมควร ผมเองจึงคาดว่าสังคมระหว่างประเทศคงจะจับมือกันหาทางแก้ปัญหาโควิด-19 ได้เหมือนที่เคยผ่านมา
  
แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่… สำหรับโควิด-19 เราอาจได้ยินการประชุมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาเซียนอยู่บ้าง แต่แม้ในช่วงที่ยังเดินทางกันได้ เราไม่เห็นการหันหน้าคุยกัน ประชุมกันของผู้นำ ของรัฐมนตรีจากประเทศที่เกี่ยวข้องและองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก(WHO)เพื่อหามาตรการเผชิญปัญหาร่วมกัน แน่ละ อาจมีหลายเหตุผลว่าทำไมการประชุมตกลงกันเช่นนั้นไม่เกิดขึ้น เช่นแต่ละประเทศเห็นความรุนแรงของโรคนี้ต่างกัน บ้างก็คิดเป็นเรื่องที่เกิดในจีน จีนก็ต้องเป็นหลักในการแก้ปัญหา หรือเวลาในการเข้าสู่ปัญหาคนละเวลากัน ในที่สุดก็เดินทางไปพบประชุมกันไม่ได้…..เป็นต้น
  
ยิ่งไปกว่านั้น เราเห็นการต่างคนต่างอยู่มากขึ้น อาเซียนก็มีมาตรการต่างๆไม่เหมือนกัน บ้างปิดด่านผ่านแดน บ้างปิดประเทศ บ้างขอร้องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บ้างปิดห้าง บ้างให้ราชการและเอกชนหยุดงาน บ้างตรวจอาการคนที่อาจติดเชื้ออย่างมาก บ้างค่อยทำค่อยไป บ้างก็ไม่มีงบประมาณสำหรับน้ำยาตรวจ บ้างให้คนชาติเดินทางกลับประเทศ บ้างก็บอกอย่าเพิ่งเดินทาง บ้างก็ล็อกดาวน์ปิดประเทศ บ้างก็ปิดๆเปิดๆ ตามอัธยาศัยที่เรียกกันว่า”ความเหมาะสม”
  
แม้ใน EU เอง ทั้งๆที่เป็นตลาดร่วมทางเศรษฐกิจ มีนโยบายร่วมกันสารพัดเรื่อง ก็ยังไม่สามารถออกมาตรการควบคุมโรคร่วมกัน ไม่สามารถช่วยกันทางสาธารณสุข สหรัฐเองก็ไม่ช่วยใคร กลายเป็นจีนที่แก้ปัญหาเสร็จก่อน เลยพอช่วยคนอื่นได้บ้าง ประเทศต่างๆก็หันหาประเทศพัฒนาแล้ว ขอซื้อหน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ เสื้อ PPE แต่บางประเทศก็ไม่ให้ขายให้ใคร ขอดูแลคนของตนก่อน….
  
ความรุนแรงของปัญหาคราวนี้ แทนที่จะดึงโลกเข้ามาหากัน กลับผลักความร่วมมือระหว่างประเทศออกห่างกันและกัน ทั้งๆที่ประสบปัญหาคล้ายกัน มีชะตากรรมไม่ต่างกันมาก
  
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงนี้ประเทศต่างๆ ก็มีความขัดแย้งกันภายในในการบริหารช่วงวิกฤต
  
ในเรื่องสาธารณสุขก็ถกเถียงกันมาก เช่นทุกคนควรใส่หน้ากากหรือเฉพาะคนป่วย ควรมีระยะห่างของแต่ละคนอย่างไรแม้ในครอบครัวเดียวกัน (Physical Distancing) นอกจากระยะห่างทางสังคมแล้ว ควรกักกัน (Quarantine)ไว้ที่ไหน สถานที่พิเศษ หรือโรงแรม และให้ห่างกันอย่างไร ควรชะลอหรือควรห้ามการเดินทางในประเทศ หรือระหว่างประเทศ เสื้อคลุม PPE หน้ากาก N-95 ของบุคคลากรการแพทย์พอหรือไม่ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ จะสั่งจากประเทศไหน…..
  
ส่วนด้านเศรษฐกิจ นั้น ประเทศต่างๆที่มีพลัง ก็ใช้สิ่งที่ดร. สันติธาร เสถียรไทยเรียกว่า บาซูก้าทางการเงิน การคลัง แต่ละประเทศก็ใช้ถูกเวลาบ้าง เร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง ก็ต่างๆกันไป ปัญหาคือบาซูก้าจะพอหรือเปล่า หรือต้องใหญ่กว่านี้ และต้องนานแค่ไหน 3หรือ 6หรือ 9 เดือนหรือ…..
  
ผมเล่าตอนต้นว่าผมบรรยายเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลต่อภูมิภาคและประเทศไทยมานาน แต่ละปีประเด็นก็เปลี่ยนไปบ้าง แต่วันนี้สถานการณ์โควิดและหลังโควิด จะเป็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาล(Disruptive Change) ที่จะผลักเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ และพฤติกรรมส่วนบุคคลให้ต่างจากเดิมอย่างไม่เคยมีมาก่อน
  
เราคงจะเป็นสังคมที่ใช้ดิจิตัลมากขึ้น เช่น การอุปโภค บริโภค การทำงาน การติดต่อสื่อสาร การประชุม การศึกษาที่เป็นทางการ การเรียนรู้ตลอดชีวิต….. เราจะเห็นว่าโลกออนไลน์ โลกไซเบอร์ โลกของปัญญาประดิษฐ์(AI)จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ระบบราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  
ธุรกิจที่เคยเฟื่องฟู เช่น ออนไลน์ทั้งหลาย อาจเฟื่องฟูขึ้นอีกมาก ธุรกิจอื่นที่เคยเฟื่องฟู เช่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจระหว่างประเทศ การคมนาคม การพักอาศัยของนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว อาจเศร้าซึมไปยาว และก็อาจจะกลับมาเฟื่องฟูหรือไม่เฟื่องฟูก็ได้ในอนาคต แต่ไม่รู้ว่าจะมีรูปแบบที่ต่างจากเดิมอย่างไรในเมื่อหลายคนเริ่มรู้สึกว่าทำงานจากบ้านผ่านระบบดิจิตัลทั้งหลายก็สบายดี มีประสิทธิภาพในการทำงานหลายอย่างดีกว่าเข้าออฟฟิศด้วยซ้ำไป ส่วนธุรกิจการแพทย์ โรงพยาบาล เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ คงมีโอกาสเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก
  
บทบาทนำของโลก ที่มีสหรัฐกับจีนแข่งกันทางการเมือง การค้า เทคโนโลยี และทางการทหารจะเปลี่ยนไปอย่างไร อียู จะอ่อนเปลี้ยไปแค่ไหน อาเซียนจะอ่อนแรงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจไปเพียงใด ความสามารถของอาเซียนในการเป็นสะพานเชื่อมการเมืองโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด โลกาภิวัตน์จะปรับตัวกลายเป็นอะไร จากผลที่ต่างคนผ่านประสบการณ์ การปิดประเทศมากน้อยกันมา และการต่างประเทศของประเทศต่างๆ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรท่ามกลางความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง
  
ในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โลกห่วงในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร(Food Security)และความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) มานานและก็เห็นระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ นโยบายของรัฐต่างๆที่เป็นผลผลิตมาจากความห่วงใยนั้น รวมทั้งเป็นหัวข้อการประชุมของผู้นำมานาน แต่เมื่อมองไปข้างหน้า… หลังจากนี้ ความมั่นคงทางสุขภาพของมวลมนุษย์หรือความมั่นคงด้านสาธารณสุข (Health Security) คงจะเป็นตัวกำหนดหัวข้อของการประชุมผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ข้าราชการ ผู้นำภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญมากกว่าเรื่องใดใด ปัญหาคือ นโยบายและแผนปฏิบัติการที่จะออกมาจากความห่วงใยด้านความมั่นคงทางสุขภาพนั้น จะมีหน้าตาแบบใด มีผลต่อสังคมอย่างไร ก็ยังคงได้แต่เดาๆกันไป
  
รัฐบาลของประเทศต่างๆก็คงได้บทเรียนจากความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารงานยามวิกฤตกันมา ประขาชน สังคมคงกดดันพอสมควรให้รัฐบาลทั้งหลายมีการปรับตัวให้การบริหารงานทั้งช่วงโควิด และการฟื้นหลังโควิดเป็นไปแบบมืออาชีพยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการฟื้นตัวของคนในแต่ละประเทศ รัฐบาลต่างๆคงหนีไม่พ้นการปรับตัวเข้าสู่รัฐบาลที่มีการทำงานที่กระชับขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานที่ล่าช้า และมีความโปร่งใส (Lean and Clean) มีธรรมะของการเป็นรัฐบาลมากขึ้น สร้างองค์ความรู้ให้ระบบราชการ(Learning Organization)ให้เป็นผู้นำการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนไปและสังคมในทุกประเทศคงจะเรียกร้องให้มีกระบวนการจัดงบประมาณให้ตรงตาม Food,Energy and Health Security ที่กล่าวถึงข้างบนมากขึ้น
  
ความยากที่สุดแสนยากคือ…แต่ละคน แต่ละประเทศ ยังไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานั้น จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไปทางไหน และมากขนาดไหน พวกเราที่อยู่บ้าน ว่างงานขึ้น(แม้ทำงานทางอีเล็คโทรนิคกันมากก็ตาม)คงต้องค่อยๆช่วยกันคิด ช่วยกันศึกษา ช่วยกันระดมสมองว่าสังคมจะพัฒนาไปอย่างไร เรารู้ว่าโลกหลังโควิดไม่เหมือนโลกก่อนโควิด แต่ไม่รู้ว่าไม่เหมือนอย่างไร ขนาดไหน คนรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร ธุรกิจน้อยใหญ่ คนสูงอายุจะต้องปรับต้วอย่างไร ใครจะช่วยเขาเหล่านั้นปรับตัว หลังจากโควิดผ่านพ้นไป หลังจากความช่วยเหลือบาซูก้าทางการเงินการคลังผ่านไป
  
ผมมานึกถึงที่ท่าน ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาเคยกล่าวไว้ว่า
“ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดและไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คือคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด(ที่จะอยู่รอด)” ( It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most adaptable to change)
  
นึกถึงท่านแล้วเลยมานั่งคิดว่า ในสภาพที่รู้ว่าการปรับตัวสำคัญก็จริง แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าโลกจะปรับไปทางไหน พวกเราจะทำอย่างไรดี จะปรับตัวอย่างไรดี จึงคิดว่าถึงเวลาที่ทุกท่านที่เป็นผู้รู้จากหลากหลายสาขา หลากหลายประสบการณ์ จากหลากหลายช่วงอายุ คงต้องใช้เวลาช่วยกันคิดว่า หลังโควิด-19 ผ่านไป สังคมจะพัฒนาไปทางไหน และคนจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ช่วยกันวางแผนให้สังคม และตัวเอง
  
….แต่ที่ผมทำได้ตอนนี้คือพยายามทำใจให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่กังวลอนาคตเกินไป ไม่โหยหาอดีตก่อนโควิด-19….และดูความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนว่านี่แหละคือความแน่นอนในยุคนี้ครับ
โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง? นายสุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกอย่างหนักหน่วงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน ผู้เขียนได้เคยอธิบายผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปแล้วในบทความ “ไวรัสโคโรนา: ฝันร้ายของเศรษฐกิจโลก?” ตั้งแต่เมื่อครั้งสถานการณ์ภายนอกประเทศจีนยังไม่รุนแรงนักและอัตราการติดเชื้อชะลอลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับโดยดุษณีว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้รุนแรง รวดเร็ว และขยายวงกว้างกว่าที่เคยประเมินไว้จริง ๆ จึงต้องขอให้กำลังใจอีกครั้งกับบุคลากรทางสาธารณสุขแนวหน้าทุกท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกที่พยายามเยียวยาผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ ผู้เขียนได้แต่หวังว่าฝันร้ายครั้งนี้จะจบลงด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกท่านในการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยเฉพาะการอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่และรับเชื้อ และการได้รับประโยชน์จากมาตรการเยียวยาของภาครัฐอย่างตรงจุดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตลอดจนความสำเร็จจากการคิดค้นวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันไวรัสโดยเร็วที่สุด
  
แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งได้สิ้นหวังไปครับ เพราะทุกวิกฤตมีเกิดแล้วย่อมมีดับเป็นธรรมดา การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็เช่นกัน คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เมื่อวิกฤตครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอชวนท่านผู้อ่านมองไปข้างหน้าและคิดตามกันในแง่มุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
- การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นหลายประเทศใช้นโยบายแบบเน้นตนเอง (inward-looking policy) หรือปกป้องทางการค้า (protectionism) อย่างชัดเจนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นและกีดกันการค้าจากต่างประเทศ ประเด็นนี้กลับมาชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่า การพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศต่าง ๆ จะหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่าง ๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ อาจเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการคิดทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญด้วย
- ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข จะได้รับการแก้ไขให้ทั่วถึงและเสมอภาคมากขึ้น วิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศหันมาใส่ใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประชาชนและไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ระบบสาธารณสุขไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้นไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกชนอีกต่อไป เพราะคนคนหนึ่งที่จริง ๆ แล้วเป็นพาหะของโรคอยู่ แต่ไม่สามารถไปใช้บริการตรวจไวรัสได้เพราะจ่ายเงินค่าตรวจไม่ไหวทั้ง ๆ ที่อยากไป และคงใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ ทำให้แพร่โรคระบาดต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้ จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจะทำได้ยากลำบาก และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดหนักหนากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบันตามยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ดังนั้น หลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็เป็นได้
- สังคมจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป" ทุกวิกฤตย่อมทิ้งร่องรอย (legacy) ไว้เสมอ ย้อนกลับไปในสมัยการระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ก็สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซในจีนให้มาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง โดยเฉพาะอาลีบาบาและเจดีดอทคอม เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพื้นที่สาธารณะและหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็จะทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน โดยเป็นการตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลหลายประเภทที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีคนใช้กันมากนัก วิกฤตครั้งนี้กลับบังคับให้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง และสร้างโอกาสต่อยอดให้มีผู้เล่นในตลาดมากยิ่งขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารทางไกล จัดประชุม หรืออีเวนท์ ซึ่งผู้บริโภคจะเกิดความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างถาวร นอกจากนี้ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว และจะเริ่มคุ้นชินกับการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวดไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นได้ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ชวนคิดโลกหลังโควิด-19’ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
เมื่อได้ติดตามข่าวสารและข้อคิดของหลายๆ ท่านในโลกอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าผู้สันทัด กรณีทั้งหลายอาจเห็นต่างกันว่าโลกหลังโควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากโลกก่อนโควิด ผมนั่งคิดวิเคราะห์ในช่วง Work from Home ต่อมาอีกระยะ แล้วจึงชวนท่านคิดต่อถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพิ่มเติมจากบทความก่อนหน้านี้ครับ (ดูหลังโควิด 19 : โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน 4 เมษายน 2563 https://www.matichon.co.th/article/news_2123365
- ด้านการต่างประเทศ:
- ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 จะถูกผลักห่างออกไป เพราะต่างคนต่างมองว่าปัญหาไม่เหมือนกัน และจะดูแลคนของตนก่อนจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าเป็นประเทศมั่งมีหรือยากจน จนเกิดการแย่งหน้ากากอนามัย การแย่งชิงเวชภัณฑ์ในสนามบินหลายแห่งในโลก กรณีประเทศตะวันตกมีการห้ามจำหน่ายเวชภัณฑ์สำคัญเพราะจะต้องดูแลผู้ป่วยในประเทศก่อนก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
- สถาบันพหุภาคี (Multilateral Institutions) มีความอ่อนแอ และไม่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดระดับโลกและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาในทุกประเทศทั้งรวยและจน องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่สามารถช่วยกระชับความร่วมมือช่วยเหลือกันของสังคมระหว่างประเทศ ในด้านสาธารณสุข หรือทางด้านเศรษฐกิจได้ดีพอ เมื่อเทียบกับวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมาในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) องค์การการค้าโลก (WTO), ธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมไปถึงองค์กรแม่คือสหประชาชาติ (UN) เองด้วย สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ทำคือให้ข้อมูล แจ้งเตือน ขอความร่วมมือ ให้กำลังใจ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมในยามวิกฤตโรคระบาด ที่ทุกประเทศต่างเอาตัวรอดกันก่อน
- องค์กรระดับภูมิภาค ดูจะเป็นความหวังของผู้คนได้บ้าง อาเซียนเพิ่งประชุมสุดยอดระดับผู้นำและผู้นำอาเซียน+3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ไปเมื่อ14 เมษายนนี้ โดยมีความพยายามในการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยกันในเรื่องโควิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล (Big Data) การหารือเชิงนโยบายการส่งเสริมพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกและมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้หารือตกลงกัน เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค มองไปภูมิภาคอื่น เช่น องค์กรความร่วมมือของเอเชียใต้ (SAARC) มีการประชุมไปเมื่อ 15 มี.ค. เพื่อตั้งกองทุนฉุกเฉินในการรับมือกับโรคระบาด สหภาพแอฟริกัน (African Union) ก็มีประชุมระดับรัฐมนตรีไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์และประชุมร่วมกับ FAO วันที่ 16 เมษายนนี้ องค์กรรัฐอเมริกัน (OAS) ในทวีปอเมริกาก็มีการประชุมระดับสูงเมื่อ 3 เมษายน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรับมือกับโควิด ต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคเช่นสหภาพยุโรป แม้ยังไม่เห็นความสามารถในการกระชับความร่วมมือในยามยากในมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและเพียงพอ แต่ทางด้านเศรษฐกิจธนาคารกลางของอียู (ECB) ก็มีมาตรการทางการเงินออกมาช่วยด้านสภาพคล่อง และอียูมีการกำหนดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) แม้จะถูกมองว่ายังห่างไกลความเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจขาลงทั้งในช่วงระบาดและหลังการระบาดได้ก็ตาม ความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆ นี้ แม้อาจถูกมองว่ายังเน้นการพูดมากกว่าทำ ยังขาดความรวดเร็วทันสถานการณ์ และยังขาดความเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตครั้งนี้ และหลายองค์กรก็มีสมาชิกที่สะบักสะบอมจากโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจ จะร่วมมือกันได้แค่ไหน เพียงใด แต่อย่างน้อยก็ดูจะมีความหวังในด้านการต่างประเทศ มากกว่าองค์กรระดับโลก ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรระดับภูมิภาคที่จะรับมือปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจขาลง แม้อาจจะช้าไป และอาจยังไม่เพียงพอ… แต่แนวโน้มนี้ชี้ถึงอนาคตของโลกาภิวัตน์ ว่าคงเป็นโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) คือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ของโลกที่แบ่งเป็นส่วนๆ แบ่งเป็นรายกลุ่มประเทศ เป็นแต่ละเรื่องๆ ไป คงไม่ใช่ความร่วมมือช่วยเหลือระดับโลก แต่จะมาจากแต่ละภูมิภาคพยายามร่วมมือกัน หรือบางประเทศเช่นจีนช่วยบางประเทศข้ามภูมิภาคเป็นกรณีๆ ไป โลกเราจะเดินไปทางนี้หรือเปล่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านสาธารณสุข และสุขภาพและจะมาแทนความร่วมมือระดับโลกในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่ องค์กรภูมิภาคจะดึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ถูกผลักห่างออกไปเพราะสถานการณ์โควิด ให้กลับมาได้จริงหรือไม่… หรือในที่สุดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ ที่เรียกร้องกดดันโดยเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะทำให้แต่ละประเทศมองไม่พ้นพรมแดนของตน ช่วยเหลือแต่คนชาติของตน ในขณะที่เชื้อโรคไม่รู้จักพรมแดน ไม่เลือกเชื้อชาติและสัญชาติหรือเปล่า?
- การแข่งขันกันเป็นผู้นำโลกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะต่อเนื่องจากเดิมหรือไม่ สหรัฐเองก็ประสบปัญหาโควิดมีคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงระดับต้นๆ ของโลก ใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศหลักในอียูเองก็บอบช้ำจากปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่พึ่งได้มาตลอด ก็ลดความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ลงไป เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาโควิดจนหนี้ภาครัฐและเอกชนรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 300% ของ GDP จะทำให้บทบาทการนำโลกทางเศรษฐกิจลดลงหรือไม่ ส่วนรัสเชียเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้จะมีระดับไม่หนักหนานัก ส่วนอาเซียน 10 ประเทศ คงจะอ่อนเปลี้ยไปจากปัญหาโควิดที่ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะยืนทรงตรงขึ้นมาได้ การเป็นผู้นำโลกจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือจะไม่แข่งกันด้านการทหาร ด้านการค้า หรือด้านเทคโนโลยีอย่างที่เป็นมาแต่จะเป็นการมีบทบาทการเป็น ผู้นำด้านอาหารปลอดภัย ผู้นำด้านสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ทุกประเทศ โหยหา และวิ่งเข้าหาประเทศที่จะเป็นผู้นำเรื่องเหล่านี้ได้ จะเป็นเกมส์ใหม่ของโลกหรือไม่ แต่ละประเทศมหาอำนาจ จะต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่ใด เพื่อให้มีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว แล้วประเทศไทยเราจะอยู่ตรงไหนในสมการใหม่นี้ ดังนั้น โลกหลังโควิด จะเป็นโลกของพหุอภิรัฐพิภพ (Multi-Polarity World) หรือเปล่า คือเป็นโลกที่มีผู้นำหลายๆ ขั้ว ไม่ใช่ประเทศเดียว หรือสองมหาอำนาจแข่งกัน หากแต่เป็นผู้นำกันคนละเรื่องหรือไม่ โดยไม่มีใครมีบทบาทนำใครในทุกเรื่อง สหประชาชาติก็มีบทบาทในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์น้อยลงไปเรื่อยๆ หรือเปล่า รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้จะได้ผู้นำคนเดิมหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้การต่างประเทศยุคหลังโควิด น่าคิดและท้าทายรัฐบาลทุกรัฐบาลในโลกเป็นอย่างยิ่ง
- ด้านความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข (Food and Health Security) โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบ จากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ผมจึงคิดว่าหลังโควิด-19 เรื่องอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นจริงๆ ประเทศไทยจึงมีสถานะที่ดี มีข้อได้เปรียบหลายชาติ เพราะเรามีแหล่งอาหารที่มากมาย แทบจะเป็นคลังอาหารของโลก แต่เราเองก็คงจะต้องดูแลให้อาหารเพียงพอต่อคนในประเทศก่อน ให้พอเพียง ยืนบนขาตัวเองได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าคนมี คนจน ไม่ว่าคนตกงานหรือคนมีงานทำ ไม่ว่าคนที่ธุรกิจต้องเสียหาย หรือคนที่ธุรกิจใหม่ๆ เฟื่องฟู ต้องมีอาหารกินเพียงพอ และปลอดภัย ต้องมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย มีผลิตผลที่ดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้ มาประยุกต์ใช้ ทำทุกอย่างอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล มีความรู้ ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปจนไม่มีภูมิคุ้มกันยามวิกฤต ให้เรายืนบนขาตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ในการผลิตอาหาร และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเพียงพออย่างพอเพียง จากนั้นจึงส่งออก ค้าขายกับนานาประเทศ
  
ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด
  
ประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรา
มีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข
  
นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace)
เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน
- การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยี เข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม
  
การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์แมน แกร็บ ฟู้ดแพนด้า เก็ท หรือการใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคน รวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก
  
ที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาชีพไม่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีที่มาแทนการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การนวดเพื่อสุขภาพ กายภาพบำบัด คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น รวมทั้งคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้ฝึกทักษะเตรียมพร้อมไว้ก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องมีกระบวนการเพิ่มทักษะ ปรับปรุงทักษะ (Re-Skill และ Up-Skill) ในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาต้องการและการเยียวยาช่วยเหลืออาชีพที่อาศัยเทคโนโลยีมาช่วยไม่ได้อย่างเร็วที่สุด
  
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง
  
เทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงานจะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร คงต้องชวนคิดกันต่อไปครับ
- เศรษฐกิจ ผมคงไม่ต้องชวนคิดอะไรมาก เพราะมีผู้สันทัดกรณีนี้ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19
กันมามากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่น่าคิดเพิ่มเติมคือ ถ้าปัญหาการระบาดของโควิด-19 เนิ่นนานกว่าที่คิด และคนตกงานมากกว่าที่ประมาณการ ธุรกิจเสียหายมากกว่าที่คิด สังคมในแต่ละประเทศจะเริ่มเดินถึงจุดที่ “ความกลัวความอดอยากจะชนะความกลัวการติดโรค” คือคนจะออกมาทำงาน ไม่กลัวติดเชื้อ ไม่ฟังมาตรการของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาระยะห่างทางสังคม กับการพยุงเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่างๆ ให้พอเหมาะพอเพียง อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อดตายและไม่ติดโรคไปพร้อมๆ กัน
  
การทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อพยุงภาคเอกชนและเยียวยาบุคคลต่างๆ ทำให้รัฐต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งในอนาคตอันใกล้ รัฐต่างๆ ก็จะต้องคิดวิธีหาเงินเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ใช้ไป หรือชำระเงินกู้กรณีที่กู้เงินมา บางรัฐบาลอาจต้องขึ้นภาษีแต่จะขึ้นภาษีอย่างไรที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว บางรัฐบาลต้องเฉือนงบการพัฒนาที่อาจจำเป็นในยามปกติ มาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็จะทำให้หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือพัฒนาการศึกษาให้ทันโลก ต้องสะดุดหยุดอยู่ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่เพราะขาดงบประมาณ และผลที่จะตกต่อสังคมนั้นคืออะไร
บทส่งท้าย
ความจริงยังมีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยนไป มีผู้รู้เห็นกันว่า การใช้คำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ “การฟื้นตัว” (Recovery) มักหมายถึงฟื้นกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการล้มลุกคลุกคลาน แต่สถานการณ์โควิด-19 นั้นหนักหนากว่าวิกฤตทางการระบาดของโรค และหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา
  
ดังนั้น การฟื้นตัวคงเป็นการปรับตัวไปข้างหน้า ไม่ใช่กลับไปสู่สถานะเดิม เป็นข้างหน้าที่ไม่เหมือนเมื่อวาน เป็นพรุ่งนี้ที่ได้แต่คาดเดา…
  
ให้ความเปลี่ยนแปลงผลักมนุษย์เราไปเรื่อยๆ เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และการบริหารรัฐที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้ใดไม่ปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่ทัน ก็จะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน หรือมิฉะนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา เพราะไม่มีตั๋วขึ้นรถไฟสายหลังโควิด!
  
ในอนาคตหากคิดประเด็นชวนคิดได้อีก ก็จะมาขอเชิญชวนท่านทั้งหลายช่วยกันคิดเพื่อการเตรียมความพร้อมของทุกองคาพยพในสังคมไทย สู่สังคมที่เราปรับตัวได้อย่างเพียงพอ โดยการมีสัมมาสติที่จะดำรงตนรอบด้านอย่างพอเพียงครับ
<
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
Key Word Summary
- เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- Globalization -->Deglobalization
- Free Trade --> Protectionism
- Global Supply Chain -->Country Supply Chain
- Multilatteral -->Unilatteral
- Work in office -->Work From Home (WFH)
- เกิดการเร่งตัวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น ดังนี้
- Digital Transformation ด้วย 5 G (Cloud Computing ,Big Data , IoT,AI)
- Health Security
- สังคมไร้เงินสด